วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นิทานเรือนร้าง(ต่อ)

            
         
หลังจากที่ครูนิโกรให้นักเรียนห้องป.3.จับคู่กันเพื่อช่วยกันแต่งนิทาน 1 เรื่อง พร้อมภาพประกอบ 1 ภาพ และมีเวลาให้ 1 สัปดาห์วันนี้ถึงกำหนดส่งงาน
            “ผมจะเล่านิทานเรื่อง  คนดูด”
            “ฮือเรื่องอะไรนะ” ครูนิโกรถามย้ำกับปราโมทย์ซึ่งคู่กับกฤช มีภาพประกอบรูปตัวคนแต่ที่ศีรษะเป็นหลอดกาแฟ
            “คนดูดครับเรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีผู้ชายซึ่งมีหลอดอยู่บนหัวและรับจ้างดูดส้วมอยู่ตามบ้าน วันหนึ่งเขาต้องดูดส้วมที่บ้านสุนัขจิ้งจอกซึ่งอุจจาระเยอะมาก ดูดไม่ออก” กฤชเปลี่ยนรูปวาดภาพประกอบอีกแผ่นด้วยความภูมิใจ ซึ่งวาดด้วยสีเมจิกฝีมือของเขา พอดูออกว่าเป็นภาพคนเอาหัวจุ่มเข้าไปในห้องส้วม… (แบบหนังสือการ์ตูนชอบวาด)
            “คนดูดจึงเลิกดูด  และไปดูดให้บ้านเสือดำแทน  ซึ่งก็มีอุจจาระเยอะมากเลยดูดไม่ออก  จนกระทั่งไปบ้านกระต่ายคราวนี้ดูดออก  เพราะกระต่ายไม่ค่อยได้ขี้  คนดูดมีความสุขมากจบ”
            กฤชไม่สนใจท่าทางของเพื่อนๆ ที่ทำหน้าไม่รู้จะขำหรือจะขยะแขยงดี  เขารีบสรุป
            “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่บ้านกระต่าย”
            ครูนิโกรหัวเราะชอบใจถึงกับปรบมือให้ดังกว่าคู่ก่อนๆ ที่ออกมาเล่า  ซึ่งส่วนมากจะเอานิทานอีสปมาเปลี่ยนตัวละคร  เช่น  คู่ของบุญชัยกับสืบพงศ์  เล่าเรื่องกระต่ายกับเต่า  ที่เต่ากลายเป็นรถเต่าจึงวิ่งเอาชนะกระต่ายไปได้
            “ของผม  ชื่อเรื่อง ผีไหให้ประสิทธิ์เป็นคนเล่าครับ” เด็กชายประสิทธิ์มองไอ้แก่เคืองๆ ก่อนจะพูดความในใจออกมา
            “นิทานเรื่องนี้  ผมเป็นคนคิด แล้วก็วาดรูปคนเดียว  กิมเตียงไม่ได้ช่วยเลยครับ” ในห้องมีเสียงพึมพำทันที  ไอ้แก่มีท่าทางอายๆ แต่ยังฝืนยิ้มหน้าด้านยืนอยู่
            “กาลครั้งหนึ่ง  มีผีตนหนึ่งมาสิงอยู่ในไหเพราะต้องการหลอกคน  แต่ไหดันกลิ้งไปกลิ้งมา  มันเลยหลอกไม่ได้  รอให้ไหหยุดแต่ไหก็กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่อย่างนั้น จนเช้าปรากฏว่ามันไม่ได้หลอกใครเลย และออกจากไหไม่ได้ด้วยเพราะไหกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ตลอดเวลาจบครับ ผมคิดคนเดียว กิมเตียงไม่ได้ช่วยครับ” ตอนจบมีการให้เครดิตตัวเองอีกครั้ง ก่อนจะเอาภาพวาดรูปไหมีลูกตาไปตั้งเรียงที่กระดานดำต่อจากภาพวาดของเพื่อนๆ คู่ก่อนหน้า
            “เรื่อง  แมวนอนไม่หลับ  ค่ะ”  มุฑิตากับสุนารีออกมาช่วยสลับกันเล่า  พร้อมรูปแมวซึ่งเป็นภาพถ่ายติดกระดาษสีสวยงามสมกับที่มุฑิตาเป็นลูกสาวเจ้าของร้านถ่ายรูป
            “กาลครั้งหนึ่ง  มีแมวห้าตัวซึ่งเป็นพี่น้องกัน”
            “ทั้งห้าต้องไปผจญภัยนอกบ้าน 3 วัน”          
            “เมื่ออยู่แปลกที่  แมวตัวสุดท้องนอนไม่ค่อยหลับ”
            “แมวที่เป็นพี่ใหญ่  จึงต้องไปหายานอนหลับมาให้น้องตัวเองกิน”    
            “แต่แมวตัวน้องเกลียดการกินยาใส่เข้าปาก  ก็ร้อง”
            “พี่ใหญ่จึงเอายานอนหลับไปผสมรวมกับปลาทู”
            “แมวตัวน้องกินปลาทูเข้าไปจึงสามารถหลับได้”
            “คืนนั้น  เกิดไฟไหม้  แมวทุกตัวหนีออกมาได้แต่แมวตัวน้องยังหลับอยู่”
           ตั้งแต่ฟังมาเรื่องนี้มีเค้าความสนุกและตื่นเต้น  ทำให้นักเรียนทุกคนสนใจฟัง  เพราะอยากรู้ว่าแมวตัวสุดท้องจะเป็นอะไรรึเปล่า
            “ไฟลามไปถึงแมวตัวสุดท้องก็ไม่ตื่น”
            “ทำให้เทวดาต้องเสกน้ำฝนลงมาช่วยดับไฟ”
            “แมวตัวน้องรอดตาย  แต่ก็ยังไม่ตื่น  เพราะกินยานอนหลับหลายเม็ด”
            “5 ปีผ่านไป  แมวตัวน้องก็ยังนอนอยู่อย่างนั้น”
            “จนกระทั่ง  มีเจ้าชายจากเรื่องสโนไวท์มาจูบแก้ม”
            “แมวตัวน้องจึงตื่นขึ้นมาเป็นเจ้าหญิงแสนสวย”
            “เจ้าชายก็เลยเลิกกับสโนไวท์มาแต่งงานกับเจ้าหญิงแมว
ให้คะแนนไม่ถูกสำหรับเรื่องนี้
            ครูนิโกรชอบที่ได้เห็นได้ยินนักเรียนกล้าคิดอะไรที่แปลกๆ ประหลาดๆ ออกมา  ดังนั้นแทนที่จะฟังนิทานเพี้ยนๆ แบบนี้แล้วจะเบื่อ  ตรงกันข้ามยิ่งฟังครูยิ่งสนุก  ถึงกับวางแผนกิจกรรมครั้งต่อไป  ก่อนจะถึงนิทานของนฤพนธ์  มาฟังนิทานอีกเรื่องของคู่ไอ้แว่นกับพิชิต
            “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  ไก่งามเพราะขน  คนงามเพราะแต่ง”  ครูงง  นักเรียนก็งง
            “เธอยังไม่ได้เล่าเลยไม่ใช่เหรอ  นายพิชิต  อยู่ๆ  มาสรุปได้ยังไง” ไอ้แว่นที่ถือรูปวาดไอ้มดแดงสู้กับไก่ยักษ์ซึ่งวาดดูดีกว่าของคู่อื่น  หันไปตอบคำถามครู
            “ที่พิชิตพูดเมื่อกี้นี้เป็นชื่อเรื่องของเราครับ  นิทานเราชื่อว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”
            “เอากะมันเออๆ ปล่อยให้เล่าดูซิ” ครูนิโกรคิดในใจ
            “เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น  เพราะเป็นเมืองของไอ้มดแดงพอดีมีคนไทยเอาไก่แจ้ไปขายที่ญี่ปุ่น  ตอนขึ้นเครื่องบินไก่ตกใจเลยตัวใหญ่เท่ายักษ์  เดือดร้อนถึงไอ้มดแดงต้องมากำจัด  แต่เผอิญ  ไก่แจ้เป็นตัวเมียไอ้มดแดงไม่ทำผู้หญิง” พิชิตหยุดพูดชั่วครู่ ระหว่างนั้นแฟนๆ ไอ้มดแดงทำท่าเหมือนจะบอกให้รีบเล่าต่อ เพราะอยากฟัง
            “ครึ่งเรื่องหลังน่ากลัวมาก  ผมไม่กล้าเล่า  ให้วีระชัยเป็นคนเล่าละกันนะครับ”  ไอ้แว่นส่งรูปให้พิชิตถือ  เขาขยับตัวนิดหน่อยก่อนจะเล่าต่อ
            “ไก่แจ้ไล่จิกผู้คนในญี่ปู่นอย่างสนุกปาก  เพราะไอ้มดแดงไม่ทำอะไร  ตอนหลังไอ้มดแดง  วี 4 ซึ่งเป็นกะเทย” เสียงชานนท์แฟนคลับไอ้มดแดงรีบแก้ตัวทันทีไม่รอให้เล่าจบ
            “เฮ้ย  ไอ้แว่น  วี 4 ไม่ได้เป็นกะเทยซะหน่อย”
            “ผู้ฟัง  โปรดเงียบๆ กรุณาอย่าเสือกยุ่งนิทานของเราครับ  ขอเล่าต่ออีกะเทย วี 4 ถือเนื่องจากว่าตัวเองเป็นผู้หญิง ก็เลยเข้าไปตบกับสัตว์ประหลาดไก่แจ้ แต่เนื่องจากเป็นกะเทย เลยสู้ไม่ได้ถูกไก่จิกตาย”
            “ไอ้แว่นวี 4 ยังไม่ตาย มึงโม้แล้ว” ชานนท์เป็นห่วงตัวละครมากรีบพูดแทรกอีก 
วีระชัยหันไปมองครูนิโกรเหมือนต้องการให้จัดการ
            “นายชานนท์  นี่เป็นนิทานที่เพื่อนแต่งขึ้นมาจากจินตนาการเพราะฉะนั้น  อย่าไปคิดเป็นจริงเป็นจัง  และผู้ฟังที่ดีควรรักษามารยาทรอให้พูดจบค่อยยกมือถามเข้าใจนะเอาละต่อให้จบเลยกำลังสนุก” นึกว่าครูให้ท้าย ไอ้แว่นเลยวางมาดในการเล่าซะน่าหมั่นไส้
            “เมื่อวี 4 ตาย ไอ้มดแดงที่เหลือจึงยอมเป็นลูกน้องยักษ์ไก่แจ้” ชานนท์ทนไม่ไหว กำลังจะโวย พอดีเห็นสายตาครูนิโกรมองมาเลยสงบปากไว้
            “ไก่แจ้จึงครองประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยจึงเป็นเจ้าโลกอวสาน”
            “แล้วมันเกี่ยวกับชื่อเรื่องตรงไหน” ชานนท์ท่าทางข้องใจไม่เลิกยกมือถาม
            “เกี่ยวสิก็ไก่แจ้มันมีขนสวย ส่วนไอ้มดแดงเป็นคนที่ใส่ชุดจึงงามเพราะใส่ชุด
 เข้าใจมั้ย”
            นฤพนธ์ซึ่งจับคู่กับประสิทธิ์ออกมาเล่านิทานของพวกเขาโดยประสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นโฆษก
            “คู่เราแต่งนิทานไว้สองเรื่อง  แต่เรื่องที่สองสนุกกว่า  เรื่องแรกเลยทิ้งไป  ซึ่งนฤพนธ์จะเป็นคนเล่า  และนี่คือภาพประกอบเรื่อง”  พอพลิกภาพมาโชว์เพื่อนๆ ก็ฮือฮาทันทีเพราะเป็นรูปหน้าผู้หญิงถึงจะไม่เหมือน  แต่ด้วยโบที่ติดตรงผมทุกคนเดาออกว่าเป็นวนิดา ทำให้คนอื่นๆ แอบยิ้มและหันมามองเด็กหญิงวนิดา ซึ่งหน้าแดงก้มหน้านิ่ง
            ครูนิโกรอยากรู้จนต้องแอบคิดว่า  นฤพนธ์จะเอาเรื่องขอโทษมาใช้ในการเล่านิทานรึเปล่า “นี่พวกเธอยู่แค่ ป.3 เองนะคิดกันได้เองจริงๆ เหรอ”
            “ต้องขอบคุณวีระชัย  ซึ่งเราจ้างให้ช่วยวาดรูป  โดยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างไว้วันหลังละกัน  เชิญฟังนิทานได้แล้วครับ”
            “ชื่อเรื่องว่า  นิทานเรือนร้าง  เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาครับ”
             เรือนร้างคือเรือนโกศล  ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน  ต่อมาทรุดโทรมมาก  เมื่อมีอาคารใหม่เกิดขึ้น  เรือนโกศลจึงถูกปล่อยไว้ให้รกร้างอยู่อย่างนั้น  พวกครูจะสั่งห้ามไม่ให้เด็กๆ เข้าไปเล่น  ต่อมาเมื่อมีสิ่งของที่ใช้งานไม่ได้ก็จะเอาไปเก็บไว้ในนั้นจนกลายเป็นโรงเก็บของ
            “ที่ร้านตัดผมอรัญบาร์เบอร์  ตอนหนึ่งทุ่ม  ขณะที่ร้านยังไม่ปิด  ช่างที่ยังอยู่ตัดผมมีสี่คน  แล้วก็มีชายคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซค์มาจอด  เขาเข้ามาทวงเงินช่างตัดผมที่ชื่อช่างจง  ช่างจงไม่ให้  ชายคนนั้นชักปืนออกมาขู่  ทุกคนรีบหลบ  เขาบอกว่าถ้าไม่รีบเอาเงินไปใช้หนี้จะถูกยิง”
             นักเรียนบางคนที่เคยได้ฟังเรื่องนี้มาบ้าง  ทำเป็นซุบซิบให้เพื่อนที่นั่งข้างๆ ฟังอย่างรู้ดี
            “เมื่อชายคนนั้นออกไปจากร้านตัดผม  มีคนมาบอกว่าเขาใช้ปืนปลอม  ทุกคนเลยขำนี่คือเรื่องที่เคยได้ยินมา และต่อจากนี้ผมกับประสิทธิ์จะช่วยกันแต่งต่อ เรื่องมีอยู่ว่าช่างจงอายที่คนล้อว่ากลัวปืนปลอม จึงเอามีดในร้านแล้วขับมอเตอร์ไซค์ตามชายคนนั้นไป ช่างจงตามมาเจอชายคนนั้นจอดมอเตอร์ไซค์ปัสสาวะตรงหน้าประตูใหญ่โรงเรียนเรา ช่างจงเอามีดเข้าไปแทง ชายคนนั้นยังไม่ตายวิ่งหนีเข้าโรงเรียนและหนีมาจนถึงเรือนร้าง เขาวิ่งเข้าไปข้างใน”
              ถึงแม้จะเกริ่นว่าเป็นเรื่องแต่ง  แต่ทุกคนก็เสียววาบ  เพราะนึกภาพเรือนร้างที่ดูพังๆ รกๆ รู้สึกเวิ้งว้างยิ่งตอนกลางคืน  ยิ่งดูน่ากลัว
            “ช่างจงจะตามเข้าไป  แต่ก็ต้องตกใจ เมื่อเห็นบนหน้าต่างชั้นบนของเรือนร้าง มีหญิงสาวผมยาวนั่งหวีผมช้าๆ และมองจ้องช่างจงอย่างน่ากลัว” เรื่องผีเรือนร้างที่ชอบมานั่งหวีผมเป็นเรื่องที่ภารโรงเคยเล่าเอาไว้
            “ช่างจงมองขึ้นไปอีกที  หญิงสาวหายไป  ได้ยินแต่เสียงร้องของชายคนนั้น  เมื่อช่างจงวิ่งเข้าไปดู  ก็เห็นชายคนนั้นตายแล้วช่างจงเดินกลับออกมาปรากฏว่ามีตำรวจรอจับ  เขาพยายามบอกว่าไม่ได้เป็นคนฆ่า  เพราะเมื่อกี้ที่แทง  เขาแทงไม่โดนแต่ไม่มีใครฟัง  ช่างจงจึงติดคุกฟรี”
            “แล้วเกี่ยวอะไรกับรูปวนิดา” ไอ้แก่ถามอย่างเหลืออด  เพราะเล่ามาตั้งยาวไม่เห็นมีวนิดาตรงไหน
            “วนิดาอยู่ตอนท้ายเรื่องนี้แหละ” เด็กนักเรียนในห้องหูผึ่งกันอีกครั้ง  แม้แต่วนิดายังอยากรู้ว่าเธอไปอยู่ในนิทานผีเรื่องนี้ได้ยังไง
            “คือผมชอบไปเปิดกระโปรงวนิดาก็เหมือนกับช่างจงส่วนชายที่ไปทวงเงินก็เหมือนพี่ชายวนิดา”
            “แล้วผีที่เรือนร้างเหมือนกับวนิดาเหรอ” สุมิตรถามบ้าง
            “ใช่เรื่องมีอยู่ว่า ผมตั้งใจจะขอโทษวนิดาตามที่ครูบอกแต่ไม่มีตอนไหนจะเข้าไปบอกได้เพราะเธอชอบเดินหนี จนกระทั่งพี่ชายวนิดามาผลักผมล้มลง พี่ชายผมเห็นเขาก็เข้าไปต่อยกับพี่ชายวนิดา ผมไม่ได้รุม ได้แต่ห้าม แยกมานพออกมา แต่กลายเป็นถูกครูสุเมธตีกลับ ให้ล้างส้วมหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งเหมือนกับช่างจงที่ไม่ได้ฆ่าคน แต่ถูกตำรวจจับ” เป็นวิธีการเปรียบเทียบที่ไม่ค่อยเกี่ยวกัน แต่นฤพนธ์ก็ยังพาไปจนได้  วนิดาเองก็งงเหมือนกันว่าเอาเธอไปเปรียบกับผีเรือนร้างได้อย่างไร  แต่พอรู้ว่าที่นฤพนธ์คอยเดินตามเธอเพื่อต้องการขอโทษจึงเริ่มรู้สึกผิด
            “เราอยากจะขอโทษวนิดาต่อไปจะไม่แกล้งเธออีก และที่เพื่อนๆ ล้อว่า ผมเป็นแฟนกับวนิดานั้นไม่เป็นเรื่องจริง เพราะคนที่ชอบวนิดา คือสุมิตรต่างหาก”
             เสียงฮือฮาอย่างแปลกใจ  พร้อมกับหันไปมองสุมิตรและวนิดาที่อายหน้าแดงทั้งคู่ 
ครูนิโกรมึนไปเลยไม่นึกว่าลูกศิษย์จะมาไม้นี้  รอจนเสียงในห้องเบาลง  นฤพนธ์ก็ไปหยิบรูปวาดวนิดาจากมือของประสิทธิ์มาถือโชว์เอาไว้
            “ภาพนี้ตั้งใจจะเอามาให้วนิดาเพื่อขอโทษ  แต่ถ้าไม่เอา  ผมก็จะให้สุมิตรเอาไปเก็บไว้ดูต่างหน้าละกัน”
            หลังจากนั้นวนิดาก็ไม่เคยคุยกับทั้งนฤพนธ์และสุมิตรอีกเลย

                                                                                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น